กษัตริย์แห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี
- มณฑารพ ยมาภัย
- Jan 20, 2017
- 8 min read
พระอัจฉริยภาพ ด้าน นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙ แห่งแผ่นดินสยาม)
อารัมภบท
วันนี้ทั่วประเทศมีการ บำเพ็ญกุศลสตมวาร ครบ ๑๐๐ วัน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมพิธีที่จัดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเมื่อค่ำวันนี้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นชัดเจนตอนนี้คือพระองค์ มิได้จากไปไหน เพียงแต่ได้เสด็จไปสู่ฟากฟ้า คอยปกปักรักษาคุ้มครองพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า หากคิดถึงหรืออยากอยู่ใกล้พระองค์ท่าน อาจทำได้ด้วยการตั้งใจทำตามพระราชดำริ ดำเนินชีวิตตามแนวพระยุคลบาท ก็จะสามารถสัมผัสได้ถึงพระบารมีของพระองค์ท่าน ที่ยังทรงแผ่มาปกคลุมทุกพื้นที่ ได้ตลอดเวลา การเพียรพยายามตั้งใจทำตามพระบรมราโชวาทนั้น ย่อมเป็นสิ่งประเสริฐ ที่เป็นกุศล อันจะนำมาสู่ความ เจริญรุ่งเรืองผาสุขในชีวิตของผู้ตั้งใจปฏิบัติเอง เพราะแนวทางคำสอนของพระองค์ ซึ่งเป็นอัครศาสนูปถัมภกในพระพุทธศาสนานั้น สอดคล้องกับคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และยังสามารถนำมาปรับใช้ในทางโลก ในอาชีพการงานทุกแขนง ได้โดยตรง ง่าย และชัดเจน การศึกษาถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ให้ลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อนำมาปรับใช้กับชีวิต และเผยแพร่ให้คนอื่นทราบ เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจให้ตั้งใจทำดี เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรกระทำ ซึ่งข้าพเจ้าสามารถเขียนลงไปได้ตรงนี้เลยว่า เพียงแค่ข้าพเจ้าได้เริ่มค้นหาข้อมูลเพื่อนำมาเขียนบทความนี้ ได้เพียงครึ่งทาง ก็ยิ่งทำให้ข้าพเจ้าซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ความยิ่งใหญ่แห่งความเป็นกษัตราธิราชของพระองค์ มากยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าสามารถบอกทุกคนได้ว่าข้าพเจ้ารัก ด้วยตัวข้าพเจ้าเอง ไม่ใช่เพราะใครบอกให้รัก
เพื่อเป็นการแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ ข้าพเจ้าซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงจะได้พยายามรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนบทความเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านนี้ ด้วยข้าพเจ้ามีความรู้ และเชี่ยวชาญน้อยในการใช้คำราชาศัพท์ เพื่อเขียนเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ จึงอาจใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม ถูกกาละเทศะ จึงกราบขอพระราชทานอภัยมา ณ. ที่นี้ด้วย ขอเชิญทุกท่านแก้ไข หรือให้ความเห็นเพิ่มเติม ด้วยตามสมควรนะคะ
กษัตริย์ผู้ประดิษฐ์คิดค้น : พระราชบิดาแห่งนวัตกรรม

เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงได้ศึกษาในทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี (แผนกวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์) สูงสุดเพียงในระดับปริญญาตรี จะสามารถสร้างผลงานที่เป็นนวัตกรรมที่จับต้องได้ และมีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ยังมีภาระกิจอื่นๆ อีกมากมาย ผลงานของพระองค์ที่ได้จดทะเบียนแล้ว หากสืบค้น ผลงานของพระองค์ท่านที่ปรากฏอยู่บน เวปไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะพบว่ามี ๑๐ เรื่อง ซึ่งจะได้นำมาแสดงไว้ในที่นี้
ในภาพรวม นวัตกรรมทั้ง ๑๐ ชิ้น ที่พระองค์ทรงคิดค้นด้วยพระปรีชาญาณ นั้น เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณที่ต้องการทำประโยชน์ให้กับพสกนิกรของพระองค์ โดยแท้จริงเท่านั้น เป็นการต้องการช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ในผืนแผ่นดินของพระองค์ ซึ่งในการคิดแก้ปัญหานั้น แทนที่พระองค์จะสั่งการลงไปเหมือนกษัตริย์ หรือผู้นำของประเทศอื่นๆโดยทั่วไป กลับทรงลงมือกระทำด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เอง ข้าพเจ้าคิดว่า คงไม่ได้มีพระประสงค์ที่ต้องการสร้างผลงานเพื่อเชื่อเสียง หรือเพื่อผลประโยชน์แอบแฝงอื่นใด ซึ่งแนวทางนี้ข้าพเจ้าจักได้น้อมนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติ ในการทำงาน ที่เกี่ยวกับการ คิดค้น ศึกษาวิจัยของข้าพเจ้าต่อไป เพราะข้าพเจ้ายอมรับว่า ที่ผ่านมานั้น ข้าพเจ้าทำวิจัย เพื่อสร้างผลงานเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการของตนเองเป็นหลัก แม้ผลงานอาจจะพอมีประโยชน์ต่อ การศึกษา และ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ของประเทศอยู่บ้าง แต่ตั้งแต่นี้ต่อไป ข้าพเจ้าจะ ตั้งใจ เพียรพยายาม มุ่งมั่น ทำงาน เพื่อแก้ปัญหาของประเทศอย่างแท้จริงให้มากขึ้น
เหตุที่พระราชาพระองค์นี้ ทรงสามารถสร้างผลงานได้ถึง ๑๐ ผลงาน ทั้งๆ ที่ต้องทรงงานหนักในฐานะพระมหากษัตริย์ คงพอจะอุปมานได้ว่า เพราะท่านคือ อัจฉริยะบุคคล การที่จะมีคนๆ หนึ่ง จะเป็นทั้ง นักวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่ชาญฉลาด ศิลปิน ผู้เชี่ยวชาญการดนตรี และภาพวาด ประพันธ์เพลงได้ไพเราะและหลากหลาย เป็นนักกีฬาระดับเหรียญทอง นักพูด ที่สามารถตรัสได้หลายภาษา อีกทั้งยังที่มีวาทะศิลป์ เฉียบคม ชาญฉลาด มีพระราชอารมณ์ขันที่คมคาย เป็นนักประพันธ์ และที่สำคัญที่สุด คือทรงเป็นพุทธมามกะ ที่มีความเข้าใจในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งและแท้จริง การที่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ รวมอยู่ในคนๆ เดียวนั้น หาได้ยากยิ่งมาก และเมื่อคุณสมบัติอันเปี่ยมล้นเหล่านี้ ยังมาหลอมรวมอยู่ใน พระมหากษัตริย์ ผู้ที่ต้องทำหน้าครองแผ่นดินในภาวะการณ์ที่ไม่ราบรื่น อีกด้วยแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ ยิ่งใหญ่ และมหัศจรรย์ ยิ่งนัก นับเป็นบุญวาสนาของประเทศไทย ที่มีกษัตริย์พระองค์นี้ และเป็นบุญยิ่งต่อผู้ที่ได้เกิดภายในแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ แม้เมื่อร่างกายของพระองค์จะไม่มีแล้ว แต่คุณธรรมและผลงาน จะอยู่ในใจ จารึกไว้ในโลกใบนี้ ตลอดไป
ในด้าน ผลงาน การประดิษฐ์คิดค้นที่เป็นนวัตกรรม ของพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้น เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญามี ๑๐ ผลงาน เป็นผลงานที่สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง นำมาใช้ได้จริง ซึ่งเมื่อได้พิจารณาดูจะเห็นว่า เป็นการที่พระองค์ทรงเล็งเห็นปัญหาจากการออกเยี่ยมราษฎร ในทุกถิ่นที่ แล้วค้นคว้าหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ปัญหาเกิดขึ้น จากนั้นจึงได้ดำเนินการแก้ไขด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เข้าช่วย เป็นแนวทางของปราชญ์โดยแท้โดย หากจะแบ่งนวตกรรมออก เป็น กลุ่มๆ อาจแบ่งได้ ๓ ประเภทหลัก คือ ๑) ทางการเกษตรกรรม ๒) นวัตกรรมที่เกี่ยวกับวิศวกรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับนำ้ และ ๓) นวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ
ในส่วนที่เกี่ยวกับการเกษตรนั้น มีทั้งหมด ๓ เรื่อง รวม ๔ รายการ ได้แก่
เรื่องที่ ๑) โครงการแกล้งดิน ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในหลายจังหวัดของประเทศไทย โครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จ เยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ทรงใช้ความรู้ ทั้งทางเคมี และวิศวะ ในการแก้ปัญหานี้ ซึ่งเมื่อลองอ่านคำอธิบายในสิทธิบัตรดู ก็จะเห็นถึงพระปรีชาของพระองค์ เพราะวิธีการนั้นค่อนข้างซับซ้อนทีเดียวโดยสิทธิบัตรที่จดนั้นได้รับการเผยแพร่ในปี ๒๕๕๐ เป็นเวลาถึง ๒๕ ปี หลังจากที่ได้ทรงพบปัญหา ซึ่งแสดงว่าพระองค์ทรง น่าจะได้ใช้เวลาคิดค้น วิจัยและพัฒนาวิธีการ ตรวจสอบประสิทธิภาพ อยู่เป็นเวลานาน พอสมควร ก่อนจะนำไปจดเป็นสิทธิบัตรได้

เรื่องที่ ๒) เป็นเรื่องเกี่ยวกับนำ้มันปาล์ม โดยการนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนการใช้แหล่งพลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นปัญหามลภาวะ ทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยี ทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยป้องกันปัญหาโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ให้แก่เกษตรกรไทย โดยพระองค์ท่านได้ทำการจด ๒ สิทธิบัตร สิทธิบัตรเรื่องแรก คือสิทธิบัตรการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล ประกาศใช้ในปี ๒๕๔๔ ส่วนสิทธิบัตรที่ ๒ เป็นการนำน้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ มาใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ ๒ จังหวะ ประกาศใช้อีก ๑ ปีถัดมาคือในปี ๒๕๔๕ สิทธิบัตรทั้ง ๒ นี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยเกษตรกรที่ปลูกปาล์มนำ้มัน และ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และมลพิษ รวมทั้ง แก้ และป้องปัญหาโลกร้อน แต่ยังเป็นการตอกย้ำถึงพระปรีชาญาณ และวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ของพระองค์ท่า เพราะ สิ่งที่พระองค์ ได้ริเริ่มขึ้นมาเมื่อ ๑๐ กว่าปีแล้วนั้น ในปัจจุบัน เป็นเรื่องใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังกล่าวถึง มีการค้นคว้าวิจัยมากมายเกิดขึ้น เพราะเป็นประเด็นเร่งด่วน ของทั้งโลก ไม่ว่าจะเกียวกับภาวะโลกร้อน global warming การใช้เชื้อเพลิงหมุนเวียน renewable bioresources และ เทคโนโลยีสะอาด white biotechnology เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์หลายสาขาทั่วโลก โดยเฉพาะสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ กำลังเร่งการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ในขณะนี้ แต่พระองค์ท่านได้ทรงเล็งเห็นปัญหา และได้เริ่มทำการวิจัยไว้ นานมากแล้ว ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เอง ที่หากสานต่อและทำให้ดีกว้างขวาง ลุ่มลึกมากขึ้น จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญ ช่วยให้ประเทศไทยก้มพ้นกับดับประเทศรายได้ปานกลาง middle income trap หรือที่ตอนนี้กำลังพูดถึงกันคือ Thailand 4.0 ได้สำเร็จโดยแท้จริง
เรื่องที่ ๓) ที่เกี่ยวกับการเกษตรกรรมของประเทศ และเป็นเรื่องที่น่าจะมีคน พูดถึง และรับรู้มากที่สุด คือโครงการฝนหลวง หรือฝนเทียม ซึ่งมีชื่อที่ปรากฎในสิทธิบัตรคือ "การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน" สิทธิบัตรนี้จดไว้ในปี ๒๕๔๕ ใกล้กับตอนที่จะเรื่องการน้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ มาใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ โครงการนี้แสดงให้เห็น ชัดเจนถึง พระอัจฉริยภาพด้าน เคมี ฟิสิกส์ และวิศวกรรม อันยิ่งใหญ่ของพระองค์ หากอ่านรายละเอียดจะเห็นความคิดสร้างสรรค์ ผนวกกับความรู้อย่างน่าประทับใจยิ่ง โครงการนี้น่าจะยังประโยขน์ให้แก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าอย่างกว้างขวาง ตอนนี้แค่ข้าพเจ้าแอบคิดว่าคงมีสักครั้งที่ฝนที่หลั่งมาโดนตัวข้าพเจ้านั้น เป็นฝนเทียม ที่เกิดจากพระอัจฉริยะภาพของพระองค์ ก็ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มและมีความสุขยิ่งแล้ว
สิทธิบัตรอีก ๖ เรื่อง เป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับปัญหา การขาดแคลนนำ้ ที่พระองค์ได้คิดค้นฝนเทียมให้ไปแล้ว สิทธิบัตรอีก ๖ เรื่อง ต่อจากนั้น เรื่องเกี่ยวกับนำ้ ๓ เรื่องหลัก ดังนี้
เรื่องที่ ๑) เป็นการแก้ปัญหา น้ำเน่าเสีย ด้วยการประดิษฐ์เครื่องเติมอากาศ ๒ ชนิด สำหรับใช้ในแหล่งน้ำที่แตกต่างกัน ๒ ประเภท รวมเป็น ๒ สิทธิบัตร สิทธิบัตรแรกคือ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนซ้ำแบบทุ่นลอย หรือ กังหันชัยพัฒนา ที่หลายคนคงเคยได้ยิน เอาไว้ใช้บำบัดนำ้เสียในบึงหนอง ส่วนสิทธิบัตรที่ ๒ คือ เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ ซึ่งออกแบบจำเพาะสำหรับบำบัดนำ้เสีย ในแหล่งนำ้ขนาดเล็กๆ ในชุมชน นอกจากนั้นแล้ว พระองค์ท่านยังได้คิดค้น และพัฒนา ระบบปรังปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ ซึ่งได้รับการจดเป็นสิทธิบัตรที่ ๓ ที่เกี่ยวกับเรื่องการบำบัดนำ้เสีย โดยในนวัตกรรมนี้ เป็นการใช้พืชเป็นตัวช่วยทำให้น้ำสะอาดเพราะจะไปแย่ง ออกซิเจนจากสาหร่ายในนำ้ และยังช่วยฟอกน้ำให้สะอาดขึ้น ด้วยจุลินทรีย์ที่เกาะอยู่บนรากพืช ซึ่งการประดิษย์คิดค้นนี้ แสดงชัดว่าพระองค์ทรงมีความแตกฉานในศาสตร์หลายสาขา เพราะการประดิษฐ์นี้ ต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจทั้งใน ด้าน ชีววิทยา พฤษศาสตร์ และจุลชีววิทยา ประกอบกับความรู้ เชิงจักรกล ทางวิศกรรมศาสตร์ อีกด้วย
เรื่องที่ ๒) ที่เกี่ยวกับนำ้ ซึ่งได้ทำการจด สิทธิบัตรอีก ๓ รายการ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่ อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลว ที่จดไว้ในปี ๒๕๔๗ เครื่องนี้ใช้ได้หลากหลาย ทั้งเพื่อการขับเคลื่อนเรือ สูบนำ้ และพ่นนำ้เติมออกซิเจนเพื่อบำบัดนำ้เสีย ส่วนสิทธิบัตรอีก ๒ รายการ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้นำ้เป็นพลังงานทางเลือกเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สิทธิบัตรแรกคือ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ โดยใช้นำ้เป็นแหล่งพลังงาน ส่วนสิทธิบัตรที่ ๒ เป็นรายละเอียด โครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ซึ่งได้จดไว้ใกล้ๆ กัน ในปี ๒๕๕๓ และเป็น ๒ สิทธิบัตรสุดท้ายโดยพระองค์ท่าน สิทธิบัตรเกี่ยวกับนำ้ทั้ง ๓ นี้ เป็นเครื่องยืนยันความเป็น วิศวกร ที่มีความสามารถสูงยิ่ง ของพระองค์ท่าน เป็นอย่างดี เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงไม่แปลกใจว่า ทำไมท่านถึงสามารถทรงต่อเรือใบ สำหรับแข่งในกีฬาแหลมทองได้ด้วยพระองค์เอง อีกทั้งยังเป็นเครื่องชี้ให้เห็นวิสัยทัศน์อันยาวไกลของพระองค์ ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงาน เน้นการใช้เทคโนโลยีสะอาด ซึ่งกำลังเป็นประเด็นสำคัญในปัจจุบัน
จากการพิจารณา รายการสิทธิบัตรทั้งหมดของพระองค์ท่าน จึงอาจสรุปรวมได้ว่า พระองค์ท่าน ทรงมีพระปรีชาสามารถ เป็นนักวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่ มีสติบัญญา ปราดเปรื่องในการประสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หลายแขนง เข้ากับความคิดสร้างสรรค์อันเฉียบคม แต่เหนืออื่นใดคือความตั้งใจที่จะช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ยาก ให้กับพสกนิกรทุกหมู่เหล่าของพระองค์ ซึ่งสิ่งที่ข้าพเจ้ากล่าวมาทั้งหมดนี้ ตรงกับที่ อ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ได้บรรยายไว้ ในบท เรื่องศาสตร์ของพระราชา ซึ่งอันที่จริงแล้ว เรื่องผลงานที่เป็นสิทธิบัตรของพระองค์ท่านนั้น เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ปลีกย่อย ที่แสดงอัจฉริบภาพทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของพระองค์ อันที่จริงยังไม่มี การประดิษฐ์ คิดค้น วิจัย พัฒนา อีกมากมายที่ไม่ได้นำมาขึ้นทะเบียนจดเป็นสิทธิบัตร โดยส่วนหนึ่งนั้น ได้ถูกบรรยายไว้ในหลายเรื่องราว โดย ผศ. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งได้ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ พระองค์ผู้ทรงทำ อีกทั้ง ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ผู้สนใจสามารถสืบค้นได้ จากแหล่งข้อมูลออนไลน์หลากหลาย อาทิเช่น ของ
http://www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com/content/index.php
นอกจากนั้นแล้วหากสืบค้นข้อมูลจากบางแหล่งเช่น manager online จะพบว่ามีสิทธิบัตร นอกเหนือจากที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา อีก ๓ รายการ ได้แก่ ๑) ภาชนะรองรับของเสียที่ขับออกจากร่างกาย ยื่นคำขอวันที่ 16 ม.ค. 2546 ประกาศวันที่ 20 ก.พ. 2546 ซึ่งเป็นของพระองค์เอง และ อีก ๒ รายการที่อยู่ในระหว่างการขอ คือ ๒) วุ้นชุ่มปากกลิ่นมิ้นท์ - มะนาว และ ๓) วุ้นชุ่มปากกลิ่นสตรอเบอร์รี่ โดย ๒ รายการนี้ เป็นของ มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ยื่นคำขอวันที่ 16 ต.ค. 2556 โดยจะเห็นได้ว่า สิทธิบัตรทั้ง ๓ รายการนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่พระองค์ทรงประชวรแล้ว เพราะเป็นสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ เป็นสิ่งที่สามารถนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ซึ่งคงเป็นสิ่งที่พระองค์น่าจะได้ใช้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งข้าพเจ้าจัดไว้เป็นกลุ่มที่ ๓ คือ กลุ่มเกี่ยวกับการแพทย์ และสุขภาพ เมื่อได้เห็นรายการสิทธิบัตร ชุดสุดท้ายนี้แล้ว ยิ่งทำให้เกิดความ รัก ศรัทธา และเทิดทูน พระองค์มากยิ่งขึ้น เพราะแม้ร่างกายจะเจ็บปวด แต่ยังมีพระ สติปัญญาที่ เฉลียวฉลาดสมบูรณ์ ยังสามารถ มองเห็นปัญหา และหาหนทางแก้ไข ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สามารถสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง และยังจะเป็นประโยชน์ต่อ คนอื่นต่อไป นี่คือปาฏิหาริย์ ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในแผ่นดินไทย ภายใต้ร่มพระบารมีของพระะองค์ท่าน เป็นบุญของปวงข้าพระพุทธเจ้าจริงๆ ที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมีของพระองค์
ข้าพเจ้าแนะนำให้ท่านที่สนใจเข้าไป สืบค้น หาข้อมูลเองได้ ที่
http://patentsearch.ipthailand.go.th/DIP2013/simplesearch.php
โดยพิมพ์ลงในช่องว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ก็จะพบรายการสิทธิบัตรทั้งหมด ดังแสดงตัวอย่างในรูปด้านล่าง

รายการสิทธิบัตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
๑. กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก (โครงการแกล้งดิน) เลขที่สิทธิบัตร ๐๗๐๑๐๐๓๐๖๖
วันที่ยื่นคำขอ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๐ วันที่ประกาศ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๐
บทสรุปการประดิษฐ์
การประดิษฐ์นี้เป็นกระบวนการวิศวกรรมทางด้านเกษตรและทางด้านปฐพีวิทยาประกอบด้วย กระบวนการที่ทำให้ดินที่มีสารประกอบกำมะถัน (สารไพไรท์) ถูกเร่งปฏิกิริยาเคมี โดยทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันจนทำให้ดินเป็นกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า กระบวนการ "แกล้งดิน" เมื่อดินเปรี้ยวจนถึงจุดที่พืชเศรษฐกิจสำคัญไม่อาจขึ้นได้ แล้วทำการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวดังกล่าวให้เหมาะแก่การเพาะปลูก
ข้อถือสิทธิ์
1. กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก ประกอบด้วยขั้นตอนของ - การแกล้งดิน เพื่อให้ดินมีค่าความเป็นกรด หรือด่าง H+, Al+++ และ Fe++ เพิ่มขึ้นหรือทำให้ดินเปรี้ยวจัด โดยการทำให้ดินแห้งเปียกสลับกัน จนกระทั่งค่าของความเป็นกรดเพิ่มขึ้นจนเป็นพิษไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ และ - การปรับปรุงดิน โดยมีขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งดังต่อไปนี้ หรือหลายขั้นตอนรวมกันที่ประกอบด้วยขั้นตอนของ - การใช้น้ำชะล้างความเป็นกรดให้ออกไปจากดินทุก 2-6 สัปดาห์ เพื่อลดความเป็นกรดให้ดินลง และ/หรือ - การใช้น้ำชะล้างความเป็นกรดให้ออกไปจากดินทุก 2-6 สัปดาห์ ควบคู่ไปกับการใช้วัสดุปูนอัตราส่วนโดยประมาณ 1400กก./ไร่ และ/หรือ - การใช้วัสดุปูนเพียงอย่างเดียวในอัตราส่วนต่างๆกัน และ/หรือ - การใช้วัสดุปูนในอัตราส่วนไม่เกิน 3.2 ตันต่อพื้นที่ 1 ไร่ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในอัตราไม่เกิน 3 ตันต่อพื้นที่ 1 ไร่ 2. กระบวนการตามข้อ 1 ยังประกอบด้วยการควบคุมปริมาณน้ำใต้ดินให้มีระดับที่คงที่ไม่เกิน 1 เมตรจากระดับผิวดิน 3. กระบวนการตามข้อ 1 หรือ 2 ที่ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตามค่าความเป็นกรด โดยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไปเป็นระยะๆ อย่างน้อย 3 ครั้ง ต่อหนึ่งปี และให้มีระยะเวลาของดินแห้งและเปียกแต่างกัน 4. กระบวนการตามข้อ 1 ถึง 3 ข้อใดข้อหนึ่ง ที่ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้น จนมีค่าความเป็นกรดอยู่ในช่วงระหว่าง pH 3.0 - 4.0 5. กระบวนการตามข้อ 1 ถึง 4 ข้อใดข้อหนึ่ง ที่ซึ่งการใช้น้ำชะล้างความเป็นกรดในขั้นตอนการปรับปรุงดินโดยที่เหมาะสมมากกว่า จะใช้น้ำชะล้างทุก 3-5 สัปดาห์ และที่เหมาะสมที่สุดทุก 4 สัปดาห์ 6. กระบวนการตามข้อ 1 ถึง 5 ข้อใดข้อหนึ่ง ที่ซึ่งการชะล้างความเป็นกรดในขั้นตอนการปรับปรุงดิน โดยใช้น้ำชะล้างความเป็นกรดควบคู่ไปกับการใช้หินปูนฝุ่น จะใช้น้ำชะล้างทุก 3-5 สัปดาห์และที่เหมาะสมที่สุดทุก 4 สัปดาหื 7. กระบวนการตามข้อ 6 ที่ซึ่งการใช้นำชะล้างความเป็นกรดในขั้นตอนการปรับปรุงดินที่ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรดควบคู่ไปกับการใช้หินปูนฝุ่น โดยใช้หินปูนฝุ่นต่อพื้นที่ในสัดส่วนระหว่าง 350 ถึง 1400 กิโลกรัม / ไร่ 8. กระบวนการตามข้อ 1 ถึง 7 ข้อใดข้อหนึ่ง ที่ซึ่งวัสดุปรับปรุงดินดังกล่าวเป็นหินปูนฝุ่นปุ๋ยอินทรีย์และ/หรือปุ๋ยเคมี 9. กระบวนการตามข้อ 8 ที่ซึ่งการปรับปรุงดินเพื่อปลูกพืช โดยการใส่หินปูนฝุ่นต่อพื้นที่ในสัดส่วนไม่เกิน 3.2 ตัน/ไร่ ควบคู่กับการใส่ปุ๋ยหมักต่อพื้นที่ในสัดส่วนไม่เกิน 3 ตัน/ไร่
๒. การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล
เลขที่สิทธิบัตร ๐๑๐๑๐๐๑๓๖๔
วันที่ยื่นคำขอ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ วันที่ประกาศ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๔
บทสรุปการประดิษฐ์
ได้เปิดเผยการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล ทุกชนิด ทำให้ควันดำและสารพิษในไอเสียลดลง รักษาสิ่งแวดล้อม เพิ่มกำลัง ให้กับเครื่องยนต์ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงและดัดแปลงอุปกรณ์ของเครื่องยนต์และ ระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ต้องติดตั้งกรองและเครื่องกำจัดไอเสีย ผลิตใน ประเทศไทย ช่วยเหลือเกษตรกร ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ เป็นทางเลือกใหม่ของอนาคตในเรื่องของพลังงานใหม่ที่สามารถปลูกทดแทนได้
ข้อถือสิทธิ์
1.การใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลได้ตั้งแต่ 0.01-99.99 % โดยปริมาตร หรือ 100 % โดยปริมาตร ไม่ต้องผสมน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล เป็นน้ำมัน เชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล 2.การใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ตามข้อถือสิทธิที่ 1 ซึ่งเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ R.B.D. PALM OLEIN ผ่านกรรมวิธีที่มีคุณสมบัติดังนี้ - ค่าของกรดไขมันอิสระ FFA (% as oleic acid) 0.15 max. - เปอร์ออกไซด์มิลลิกรัมสมมูลออกซิเจน / 1 กก. PV (meq / kg) 3.00 max. - น้ำและสิ่งที่สารที่ไม่ละลายในน้ำมัน M&I (%) 0.10 max. - ไอโอดินแบบวิจส์ IV (Wijs) 54-59 % - จุดมัว Cloud Point (A.O.C.S.,C) 10 max. - สี Color (Lovibond 5.25 inch. Cell) 30Y 3R max.
๓. การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ ๒ จังหวะ เลขที่สิทธิบัตร ๐๒๐๓๐๐๐๗๑๓
วันที่ยื่นคำขอ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๕ วันที่ประกาศ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๕
บทสรุปการประดิษฐ์
ได้เปิดเผยการใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ สองจังหวะ เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นทางเลือกใหม่ของอนาคตในเรื่องของการใช้ วัตถุดิบที่สามารถปลูกทดแทนได้
ข้อถือสิทธิ์
1. การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ (R.B.D.Palm Olein) 100% โดยปริมาตรเป็นน้ำมันหล่อลื่น สำหรับเครื่องยนต์สองจังหวะ 2. การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ตามข้อถือสิทธิที่ 1 ซึ่งเป็นน้ำมันปาล์มมากลั่นบริสุทธิ์ที่มี คุณสมบัติ ดังนี้ - ค่า FFA (% as oleic acid) 0.15 max. - ค่าเพอร์ออกไซด์ PV (meq/kg) 3.00 max. - สารที่ไม่ละลายในน้ำมัน M&I (%) 0.10 max. - ค่าไอโอดินแบบวิจส์ IV (Wijs) 54-59 - จุดมัว Cloud Point (A. O. C. S. ํC) 10 max. - สี Color (Lovibond 5.25 inch. cell) 30Y 3R max.
๔. การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน
เลขที่สิทธิบัตร ๐๒๐๑๐๐๓๑๗๗
วันที่ยื่นคำขอ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๕ วันที่ประกาศ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๕
บทสรุปการประดิษฐ์
การประดิษฐ์นี้คิดค้นกรรมวิธีการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดเมฆฝนจากเมฆอุ่น ควบคู่กับเมฆเย็นนี้เพื่อใช้เป็นเทคโนโลยีในการปฏิบัติการหวังผลให้เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่เป้าหมาย ที่กำหนด แผ่เป็นบริเวณกว้าง เพิ่มความถี่ของฝน และทวีปริมาณน้ำฝนให้มากยิ่งขึ้นกว่าฝนที่เกิด ขึ้นเองตามธรรมชาติ
ข้อถือสิทธิ์
1. กรรมวิธีการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนจากเมฆอุ่นและเมฆเย็น ที่ประกอบด้วย ขั้นตอนของ ขั้นตอนที่ 1 การดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดเมฆ โดยการโปรยสารเคมี ผงเกลือโซเดียม คลอไรด์ (Nacl) ที่ระดับความสูง 7,000ฟุต จากระดับน้ำทะเลในสภาพท้องฟ้าโปร่งที่มีความชื้น สัมพันธ์ไม่น้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เป็นแกนกลั่นตัวของเมฆ และก่อให้เกิดเมฆที่ก่อยอดขึ้น ถึงระดับความสูง 10,000 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ขั้นตอนที่ 2 การดัดแปรสภาพอากาศจากเมฆที่ก่อขึ้นตามขั้นตอนที่ 1 โดยการโปรยสารเคมี ผงแคลเซียมคลอไรด์ (Cacl2) เข้าไปในกลุ่มเมฆดังกล่าวที่ระดับความสูงจากฐานเมฆ 1,000 ฟุต หรือที่ระดับความสูง 8,000 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ทำให้เมฆเดิมหรือเมฆที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 จะก่อ ตัวใหญ่ขึ้นมียอดถึงระดับความสูง 15,000 ฟุต จากระดับน้ำทะเล และจะก่อตัวสูงขึ้นจนถึงความสูง 18,000 ฟุตขึ้นไป ขั้นตอนที่ 3 การดัดแปรสภาพอากาศเมื่อเมฆที่ได้จากขั้นตอนที่ 2 มีน้ำหนักมากขึ้นและ ฐานเมฆเริ่มลดระดับลง 1,000 ฟุตและได้เคลื่อนตัวสู่พื้นที่เป้าหมาย ทำการโจมตีด้วยวิธีSandwich คือ การโปรยผงโซเดียมคลอไรด์ ( Nacl ) ทับยอดเมฆหรือที่ไหลเมฆที่ระดับความสูงระหว่าง 9,000 ถึง 10,000 ฟุตและการโปรยผงยูเรีย (Urea) ที่ฐานเมฆ โดยทำมุมเยื้องกัน 45องศา จนเมฆใกล้ตก เป็นฝน หรือเริ่มตกเป็นฝนแต่ยังไม่ถึงพื้นดิน หรือตกถึงพื้นดินแต่ปริมาณยังเบาบาง ขั้นตอนที่ 4 การเสริมโจมตีกลุ่มเมฆที่ได้รับจากขั้นตอนที่ 3 ทำการโปรยน้ำแข็งแห้ง (Dry ice) ที่ใต้ฐานเมฆ โดยโปรยต่ำกว่าฐานเมฆ 1,000 ฟุต ทำให้ฐานเมฆลดระดับต่ำลง และเกิดฝนหนาแน่น ยิ่งขึ้น และชักนำให้กลุ่มฝนเคลื่อนตัวสู่พื้นที่เป้าหมาย 2. กรรมวิธีการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนตามข้อ 1 ที่ซึ่งในขณะที่เมฆพัฒนายอดสูงขึ้น ถึงระดับเมฆเย็นในขั้นตอนที่ 2จะทำการยิงพลุสารซิลเวอร์ไอโอไดด์ (Agl) ที่ระดับความสูง ประมาณ 21,500 ฟุต มีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง -8 ถึง -12 องศาเซลเซียส มีกระแสมวลอากาศลอยขึ้น ประมาณ 1,000 ฟุตต่อนาทีและมีน้ำที่เย็นจัดในปริมาณไม่ต่ำกว่า 1 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะทำให้ มีไอน้ำเย็นยิ่งยวด (Super cooled vapour)เกาะตัวรอบแกนซิลเวอร์ไอโอไดด์เป้นเกล็ดน้ำแข็งและจะ ก่อตัวใหญ่ขึ้นจนตกลงมาถึงระดับเมฆอุ่น และจะทำให้ไอน้ำและเม็ดน้ำในเมฆอุ่นรวมตัวกันเป็น เม็ดใหญ่ขึ้น ทะลุฐานเมฆตกลงสู่พื้นดิน 3. กรรมวิธีการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนตามข้อ 1 ที่ซึ่งการโจมตีเมฆอุ่นตามขั้น ตอนที่ 3 และ 4 จะทำการโจมตีเมฆเย็นตามข้อ 2 ควบคู่พร้อมๆ กัน เทคนิคนี้เรียกว่า SUPER SANDWICH (ข้อถือสิทธิ 3 ข้อ, 1 หน้า, 2 รูป)
๕. เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนซ้ำแบบทุ่นลอย
เลขที่สิทธิบัตร ๙๒๐๑๐๐๐๗๔๗
วันที่ยื่นคำขอ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๕ วันที่ประกาศ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๕
บทสรุปการประดิษฐ์
เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย จะประกอบไปด้วยซองตักวิดน้ำจำนวน 6 ซอง ที่มีลักษณะเปิด มีพื้นที่ หน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู และมีพื้นที่บางด้านของซอง เจาะเป็นรูพรุน ทั้งหมดติดตั้งอยู่บนโครงกังหันน้ำ ที่มี โครงด้านข้างทั้ง 2 ด้านเป็นรูป 12 เหลี่ยม โดยติดตั้งอยู่ บนเหลี่ยมในระยะห่างที่เท่ากัน ที่ศูนย์กลางปลายเพลาทั้ง 2 ข้างของโครงกังหันน้ำมีจุดรองรับการหมุนอยู่ที่ตุ๊กตา ซึ่ง ติดตั้งอยู่บนตัวทุ่นลอยของแต่ละด้าน โดยมีแหล่งกำเนิดพลัง งานโดยการส่งผ่านกำลังพาให้ชุดกังหันน้ำหมุนตักวิดน้ำจาก ส่วนลึกประมาณ 50-80 ซ.ม. ขึ้นไป แล้วถ่ายเทน้ำลงมาเพื่อ เป็นการเติมอากาศให้กับน้ำ
ข้อถือสิทธิ์
1. เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวหน้าช้าแบบทุ่นลอยมีรูปร่างลักษณะทีประกอบด้วย - ของตักวิดน้ำจำนวน 6 ซอง ที่มีลักษณะเป็นซองเปิดซึ่งมี พื้นที่หน้าตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ทีพื้นด้านตรงข้าม กับปลายเปิดและผนังด้านข้างที่เล็กกว่าของซองตักวิดน้ำจะ เจาะเป็นรูพรุนและมีผนังกั้นแบ่งซองตักวิดน้ำออกเป็น 3 ห้อง เท่าๆ กัน - โครงกังหันน้ำ มีลักษณะเป็นโครงด้านข้างของซองตักวิดน้ำ สองด้านเป็นรูป 12 เหลี่ยม ซึ่งซองตักวิดน้ำทั้ง 6 ซองดัง กล่าวยึดติดระหว่างโครงด้านข้างดังกล่าวอย่างมั่นคงใน ลักษณะที่หันด้านเปิดไปในทิศทางตามเข็มนาฬิกาและด้านข้าง ที่ใหญ่กว่าของซองตักวิดน้ำรูปสี่เหลี่ยมคางหมูจะอยู่บน เหลี่ยมที่อยู่โดยรอบของโครงด้านข้างทั้งสองดังกล่าว และ ยึดติดในลักษณะทีเว้นระยะห่างเท่าๆ กัน ที่ศูนย์กลางของ โครงกันหันน้ำดังกล่าว มีแกนโครงที่ยื่นออกไปทางด้านข้าง ทั้งสองด้าน เพื่อที่จะวางตัวอยู่บนตุ๊กตารองรับเพลาที่ อยู่บนโครงรองรับซึ่งติดตั้งอยู่บนทุ่นลอยทั้งสองด้าน และ - แหล่งกำเนิดพลังงานเพื่อหมุนขับเคลื่อนให้โครงกังหันน้ำ หมุนตามเข็มนาฬิกาผ่านทางชุดส่งและชุดถ่ายทอดกำลังงาน ซึ่ง ติดตั้งอยู่บนหุ่นลอดดังกล่าว 2. เครื่องกลเติมอากาศตามข้อ 1 ที่ซึ่งของตักวิดน้ำที่ถูก ติดตั้งบนโครงกังหันน้ำซึ่งอยู่บนหุ่นลอยโดยซองตักวิดน้ำ ซองล่างสุดจะจมอยู่ใต้ระดับผิวน้ำ 3. เครื่องกลเติมอากาศตามข้อ 1 หรือ 2 ที่ซึ่งปลายทั้งสอง ของทุ่นลอยดังกล่าวถูกยึดติดระหว่างกันด้วยโครงเหล็กและที่ ด้านล่างของทุ่นลอยดังกล่าวมีฐานรองรับ (ตีนช้าง) ยึดติด อยู่ทั้งสี่ปลาย 4. เครื่องกลเติมอากาศตามข้อ 1 ถึง 3 ข้อใดข้อหนึ่งที่ซึ่ง ทุ่นลอยดังกล่าวจะจมอยู่ใต้ผิวน้ำ 50-80 ซม. (ข้อถือสิทธิ 4 ข้อ, 1 หน้า, 6 รูป)
๖. เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ
เลขที่สิทธิบัตร ๐๑๐๑๐๐๐๑๔๖
วันที่ยื่นคำขอ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔ วันที่ประกาศ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๔
บทสรุปการประดิษฐ์
เครื่องกลเติมอากาศตามการประดิษฐ์นี้ มีลักษณะที่ประกอบด้วยเครื่องดูดและอัดอากาศ ซึ่งจะ อัดอากาศเข้าไปผสมกับน้ำที่ถูกดูดขึ้นมาจากก้นบ่อหรือแหล่งน้ำ ก่อนที่จะถูกฉีดพ่นออกสู่แหล่งน้ำ เพื่อให้มีการเติมอากาศได้ดี เกิดการหมุนเวียนของน้ำที่ได้รับการเติมอากาศแล้ว และเพื่อให้มีการ เติมอากาศได้อย่างทั่วถึง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำและการบำบัดน้ำเสีย ชุมชน
ข้อถือสิทธิ์
1. เครื่องกลเติมอากาศ ที่มีลักษณะประกอบด้วยทุ่นลอยมีชุดเครื่องอัดอากาศและดูดน้ำติดตั้ง อยู่บนทุ่นลอยดังกล่าว ที่ซึ่งชุดเครื่องอัดอากาศและดูดน้ำดังกล่าวขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (1) ที่ติดตั้ง ในลักษณะที่แกนของมอเตอร์ไฟฟ้าอยู่ในแนวดิ่ง เพื่อขับหมุนแกนหมุนหรือเพลาขับ 3 ของชุดเครื่อง ดูดและอัดอากาศ (4) ซึ่งดูดอากาศจากบริเวณรอบๆ ผ่านทางช่องอากาศเข้า (7) และจะอัด อากาศเป่าออกไปทางท่อเป่าอากาศ (5) แกนหมุน (3) ของชุดเครื่องดูดและอัดอากาศ (4)จะยื่นยาว ต่อลงไปทางด้านล่าง และจะต่อเข้ากับชุดปั๊มน้ำ (10) ที่ซึ่งจะดูดน้ำผ่านช่องน้ำเข้า (13) ที่สามารถ ต่อยาวลึกลงไปที่บริเวณก้นบ่อหรือแหล่งน้ำเพื่อดูดน้ำจากบริเวณส่วนลึกของแหล่งน้ำ น้ำที่ถูกดูดขึ้น มาจะถูกส่งออกไปยังห้องผสมอากาศและน้ำ (12) และถูกฉีดพ่นออกสู่แหล่งน้ำผ่านทางท่อเวนทูร (11) ซึ่งจะก่อให้เกิดแรงดูดอากาศที่จากท่อเป่าอากาศ (5) ของชุดเครื่องดูดและอัดอากาศ (4) ทำให้ ปริมาณอากาศที่เข้าผสมกับน้ำที่ห้องผสมอากาศและน้ำ (12) มีปริมาณเพิ่มขึ้น มีประสิทธิภาพใน การเติมอากาศลงในแหล่งน้ำได้ดียิ่งขึ้น
๗. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์
เลขที่สิทธิบัตร ๑๐๐๑๐๐๐๗๐๕
วันที่ยื่นคำขอ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ วันที่ประกาศ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๓
บทสรุปการประดิษฐ์
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ที่ประกอบด้วย ใบพัดที่เปลี่ยนพลังงานจากความเร็วของกระแสน้ำให้เป็นพลังงานกลในการหมุนเพลาที่ต่อเข้ากับชุดเกียร์เพิ่มรอบและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยมีข้อต่อเพลาเป็นตัวยึดเข้าด้วยกัน โดยทั้งชุดเกียร์เพิ่มรอบและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าถูกประกอบอยู่ภายในห้องติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากันน้ำที่สามารถติดตั้งอยู่ใต้น้ำภายใต้ความดันไม่มากกว่า 1.5 บาร์ ใบพัดนี้จะเป็นแบบหมุนรอบแกนการไหลหรือหมุนขวางการไหลอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ซึ่งใบพัด และชุดเกียร์เพิ่มรอบได้รับการออกแบบให้เป็นไปตามความสัมพันธ์ของอัตราส่วนความเร็วปลายใบ {tip speed ratio = (ความเร็วรอบการหมุนของใบพัด x รัศมีของใบพัด)/ความเร็วกระแสน้ำทางเข้า} ซึ่งได้อัตราส่วนความเร็วปลายใบดังนี้ ใบพัดแบบหมุนรอบแกนการไหล = 5 และ ใบพัดแบบหมุนขวางการไหล = 2.5
ข้อถือสิทธิ์
1 เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ มีลักษณะเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ที่สามารถติดตั้งอยู่ใต้น้ำในระดับความดันไม่มากกว่า 1.5 บาร์ มีความเร็วของกระแสน้ำตั้งแต่ 0.6 เมตรต่อวินาที ขึ้นไป โดยสามารถติดตั้งที่บริเวณประตูระบายน้ำของเขื่อนต่าง ๆ และสามารถประกอบร่วมกับชุดใบพัดกังหัน ที่ซึ่งมีลักษณะหมุนรอบแกนการไหลหรือหมุนขวางการไหลอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งชุดใบพัด ดังกล่าวจะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานจากความเร็วของกระแสน้ำไปหมุนเพลาส่งกำลัง ชุดใบพัดกังหัน ประกอบด้วย ชุดใบพัดกังหันแบบหมุนรอบแกนการไหล (2) ที่ซึ่งมีใบพัดอย่างน้อย 3 ใบ (2a, 2b, 2c) และชุดใบพัดกังหันหมุนขวางแกนการไหล (21) ที่ซึ่งประกอบด้วยใบพัดกังหันอย่างน้อย 3 ใบ (21a, 21b, 21c) มีลักษณะเป็นแผ่นที่บิดเป็นเกลียว ที่ได้รับการออกแบบให้ใบพัดมีลักษณะเป็นรูปทรง ที่ก่อให้เกิดการไหลแบบราบเรียบ โดยที่ความเร็วของกระแสน้ำจะเป็นตัวแปรทางด้านชลศาสตร์ ที่มีผลต่อการออกแบบชุดใบพัด โดยอาศัยความสัมพันธ์ของความเร็วกระแสน้ำ ความเร็วรอบการหมุนของใบพัด และอัตราการทดรอบของชุดเกียร์ ซึ่งเป็นไปตามสมการของอัตราส่วนความเร็วปลายใบ {tip speed ratio = (ความเร็วรอบการหมุนของใบพัด X รัศมีของใบพัด)/ความเร็วกระแสน้ำทางเข้า} ซึ่งได้อัตราส่วนความเร็วปลายใบดังนี้ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ ชุดใบพัดแบบหมุนรอบแกนการไหล Tip Speed ratio = 5 ที่ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง (Propeller diameter, D) = 2000 mm อัตราส่วนรัศมีดุมต่อรัศมีปลายใบ (Hub to tip ratio, rhub/R) = 0.15 จำนวนใบ (Number of blade) = 3 หน้าตัด (Cross section) = NACA 4412 และ ชุดใบพัดแบบหมุนขวางการไหล Tip Speed ratio = 2.5 ที่ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง (Diameter ,D) = 1000 mmความยาวใบ (Span) = 2500 mm ความยาวคอร์ด (Chord length) = 140 mm จำนวนใบ (Number of blade) = 3 มุมบิด (Twist angle) = 24.5 องศา หน้าตัด (Cross section) = NACA 0020
๘. โครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์
เลขที่สิทธิบัตร ๑๐๐๑๐๐๐๗๐๖
วันที่ยื่นคำขอ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ วันที่ประกาศ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๓
บทสรุปการประดิษฐ์
โครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ที่ประกอบด้วย โครงติดตั้งอุปกรณ์ สำหรับติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ซึ่งประกอบร่วมกับ ชุดใบพัดที่เปลี่ยนพลังงานจากความเร็วของกระแสน้ำให้เป็นพลังงานกลในการหมุนเพลาที่ต่อเข้ากับชุดเกียร์เพิ่มรอบและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยมีข้อต่อเพลาเป็นตัวยึดเข้าด้วยกัน โดยทั้งชุดเกียร์เพิ่มรอบและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าถูกประกอบอยู่ภายในห้องติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากันน้ำที่สามารถติดตั้งอยู่ใต้น้ำภายใต้ความดันไม่มากกว่า 1.5 บาร์ ชุดใบพัดนี้จะเป็นแบบหมุนรอบแกนการไหลหรือหมุนขวางการไหลอย่างหนึ่งอย่างใด โดยโครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ จะติดตั้งไว้ใต้บานประตูระบายน้ำหรือท้ายประตูระบายน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
ข้อถือสิทธิ์
1. โครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ประกอบด้วย เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ที่ถูกติดตั้งบนโครงสร้างสำหรับวางขวางการไหลของน้ำ ที่ประตูระบายน้ำ เพื่อให้กระแสน้ำหมุนชุดใบพัดกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ส่งกำลังไปยังเพลาของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ต่อไป มีลักษณะเฉพาะ ประกอบด้วย - ชุดใบพัดกังหันหมุนรอบแกนการไหล (2) ที่ซึ่งมีใบพัดอย่างน้อย 3 ใบ (2a, 2b, 2c) ถูกประกอบเข้าด้วยกันกับเพลาส่งกำลัง (3) ด้านหน้าของชุดใบพัดติดตั้งร่วมกับชุดยึดใบพัดด้านหน้า (5) และหัวปิดดุม (6) และชุดยึดใบพัด ด้านหน้า (5) ทำหน้าที่ยึดชุดใบพัด (2) กับเพลาส่งกำลัง (3) จะส่งถ่ายกำลังจากใบพัดไปหมุนเพลาส่งกำลัง (3) ใบพัดมีลักษณะเป็นรูปทรงที่ก่อให้เกิดการไหลแบบราบเรียบ ด้านหลังของชุดใบพัด (2) ดังกล่าวประกอบร่วมกับชุดยึดใบพัดด้านหลัง (7) ซึ่งจะส่งถ่ายกำลังจากชุดใบพัด (2) ไปหมุนเพลาส่งกำลัง (3) -ห้องติดตั้งชุดกำเนิดไฟฟ้า (8) ที่มีฝาปิดด้านหน้า (9) และฝาปิดด้านหลัง (10) ภายในประกอบด้วยชุดเกียร์เพิ่มรอบ (11) และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (12) โดยมีคับปลิ้ง (13) เป็นตัวยึดเข้าด้วยกัน เพลาส่งกำลัง (3) จะประกอบร่วมกับซีลกันน้ำ (14) ชุดซีลกันน้ำมัน (15a, 15b, 15c) ชุดแบริ่งรับแรง (16a, 16b) และตัวยึดแบริ่ง (17) ที่ซึ่งทำหน้าที่ส่งถ่ายกำลังจากเพลา (3) ส่งกำลังไปยังชุดเกียร์เพิ่มรอบ (4) ที่ได้รับการออกแบบให้สัมพันธ์อัตราส่วนความเร็วปลายใบ (tip speed ratio) ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดที่อยู่ภายในห้องติดตั้งชุดกำเนิดไฟฟ้า (8) เพื่อให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ทำงานใต้น้ำที่มีความดันไม่มากกว่า 1.5 บาร์ ที่ด้านบนและด้านล่างของห้องติดตั้งชุดกำเนิดไฟฟ้า (8) ประกอบด้วยฐานยึดโครงเหล็ก (18) ทำหน้าที่ยึดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์เข้ากับโครงติดตั้งอุปกรณ์ (43) โดยมียางกันสะเทือน (19) ประกอบอยู่ระหว่างฐานยึด (18) - โครงติดตั้งอุปกรณ์ (43) สำหรับติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ (1) มีลักษณะเป็นโครงสร้างโลหะปลอดสนิม ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตามแนวยาว ที่ผนังด้านข้าง ทั้งสองด้านมีตัวประคอง (44) ข้างละ อย่างน้อย 2 ตัว ตามแนวตั้ง สำหรับการติดตั้งโครงติดตั้งอุปกรณ์ (43) เข้ากับผนังประตูระบายน้ำ (47) ที่ช่องใส่บานซ่อมบำรุง ซึ่งการติดตั้งจะติดไว้ใต้ประตูระบายน้ำ (48) โดยยกประตูระบาย (48) ขึ้น หรือติดตั้งท้ายประตูระบายน้ำ (48) และมีตะแกรงป้องกันชุดใบพัดกังหัน (45) สำหรับชุดใบพัดแต่ละอัน 2. โครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ตามข้อถือสิทธิ 1 ที่ซึ่ง เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ (20) ที่ประกอบร่วมกับชุดใบพัดกังหันหมุนขวางแกนการไหล (21) ที่ซึ่งประกอบด้วยใบพัดกังหันอย่างน้อย 3 ใบ (21a, 21b, 21c) มีลักษณะเป็นแผ่นที่บิดเป็นเกลียว ที่ใบพัดมีลักษณะเป็นรูปทรงที่ก่อให้เกิดการไหลแบบราบเรียบ ที่ประกอบร่วมกับแกนยึดติดใบพัดกังหัน ที่ตำแหน่งด้านหน้า (22a) กึ่งกลาง (22b) และด้านท้าย (22c) เพื่อทำหน้าที่ยึดใบพัดกังหันเข้าด้วยกัน ที่ซึ่งแกนยึดติดใบพัดกังหันดังกล่าว แต่ละตำแหน่งติดตั้งร่วมกับหน้าแปลนยึดเพลา (23a, 23b และ 23c) เพื่อยึดใบพัดกังหันร่วมกับเพลาส่งกำลัง (24) ที่ตำแหน่งของแกนยึดติดใบพัดกังหันด้านหน้า (22a) ประกอบด้วยชุดแบริ่ง (25) เพื่อทำหน้าที่รับแรงที่กระทำกับเพลาส่งกำลัง (24) ให้การหมุนของเพลาส่งกำลัง (24) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพถัดจากชุดแบริ่ง (25) จะติดตั้งซีลกันน้ำมันหล่อลื่น (26) ซีลกันน้ำเข้าระหว่างเพลา (27) และเพลายึดแบริ่งด้านปลาย (28) ที่ซึ่งทำหน้าที่ยึดเพลาส่งกำลังด้านปลายกับชุดใบพัดกังหัน (21) โดยที่ชุดแบริ่ง (25) ซีลกันน้ำมันหล่อลื่น (26) และ ซีลกันน้ำเข้า (27) ประกอบอยู่ภายในห้องกันน้ำแบริ่ง (29) ที่มีฝาปิดห้องกันน้ำ (30) ประกอบอยู่ และที่ตำแหน่งแกนยึดติดใบพัดกังหันด้านหลัง (22c) ประกอบร่วมกับชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วย ห้องติดตั้งชุดกำเนิดไฟฟ้า (31) ที่มีฝาปิดด้านหน้า (32) และฝาปิดด้านหลัง (33) ภายในประกอบด้วยชุดเกียร์เพิ่มรอบ (34) และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (35) ถูกติดตั้งอยู่ภายในห้องติดตั้งชุดกำเนิดไฟฟ้า (31) เพื่อให้การทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ทำงานใต้น้ำที่มีความดันไม่มากกว่า 1.5 บาร์
๙. ระบบปรังปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ
เลขที่สิทธิบัตร ๑๐๐๑๐๐๑๐๙๙
วันที่ยื่นคำขอ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ วันที่ประกาศ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓
บทสรุปการประดิษฐ์
ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศตามการประดิษฐ์นี้เป็นการใช้เครื่องกลเติมอากาศร่วมกับระบบพืช เครื่องกลเติมอากาศจะทำหน้าที่ถ่ายเทออกซิเจนลงในน้ำ ทำให้น้ำมีการไหลหมุนเวียน และอณูของเสียเกิดการแตกตัว ทำให้พืชสามารถดูดซับของเสียได้ดี รางพืชจะดูดซับแร่ธาตุสารอาหารที่ปนมากับน้ำ ความต้องการแร่ธาตุ/สารอาหารเพื่อการเจริญเติบโตของพืชเมื่อทำการสังเคราะห์แสง พืชจะแย่งอาหารจากสาหร่ายชั้นต่ำ สีของน้ำจะค่อยๆใสขึ้น ความหนาแน่นของต้นพืชจะมีผลต่อกรองของเสียที่ปนมากับน้ำ จุลินทรีย์ในน้ำจะเกาะรากพืชและหน่อของพืช จะสามารถช่วยย่อยสลายของเสีย โดยกำหนดให้น้ำเสียถูกส่งเข้ารางพืชด้วยระบบแรงโน้มถ่วง หรือสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำ และจะต้องมีทางให้น้ำที่ผ่านรางพืชกลับลงสู่แหล่งน้ำเดิม
ข้อถือสิทธิ์
1. ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศที่ประกอบด้วยเครื่องกลเติมอากาศ (1) ที่ติดตั้งในบริเวณแหล่งน้ำที่จะปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนลงในน้ำและทำให้น้ำมีการไหลหมุนเวียน มีลักษณะเฉพาะคือ มีรางพืชปรับปรุงคุณภาพน้ำ (2) ที่ติดตั้งอยู่ริมแหล่งน้ำทำหน้าที่กรองน้ำ โดยน้ำในแหล่งน้ำที่จะบำบัด จะถูกส่งเข้าสู่รางพืชด้วยเครื่องสูบน้ำผ่านทางท่อ (3) รางพืชปรับปรุงคุณภาพน้ำ (2) นีจะมีลักษณะเป็นรางยาวเปิดที่ด้านบน มีแผ่นกั้น (4) อย่างน้อยสองแผ่นติดตั้งที่บริเวณด้านหัวและท้ายของราง (2) ทำให้เกิดเป็นห้องรับน้ำ (7) และ 8) ที่บริเวณหัวและท้ายของราง (2) ตามลำดับ แผ่นกั้น (4) นี้จะมีความสูงต่ำกว่าความสูงของราง (2) เพื่อชะลอความเร็วของน้ำและให้น้ำท่วมต้นพืช (5) ที่ปลูกไว้ระหว่างแผ่นกั้น (4) ภายในราง (2) น้ำที่ผ่านพืชจะถูกกรองของเสียและไหลล้นไปยังห้อง (8) ก่อนระบายกลับลงสู่แหล่งน้ำผ่านทางท่อน้ำไหลกลับ (6) 2. ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศตามข้อ 1 ที่ซึ่งแหล่งน้ำเป็นแหล่งน้ำปิด 3. ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศตามข้อ 1 ที่ซึ่งแหล่งน้ำเป็นแหล่งน้ำเปิดที่มีน้ำไหลผ่าน ยังมีคอกหรือตาข่ายกั้น (10) ติดตั้งที่บริเวณหัวท้ายของบริเวณที่จะติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ ทำให้เกิดเป็นห้อง (11 และ 12) เพื่อป้องกันเศษวัสดุที่อาจไหลเข้าไปในบริเวณบำบัดน้ำและจะปรับปรุงคุณภาพน้ำเบื้องต้นก่อนที่จะไหลเข้าไปในระบบ 4. ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศตามข้อ 1 ถึง 3 ข้อใดข้อหนึ่งที่ซึ่ง รางพืชปรับปรุงคุณภาพน้ำ (2) โดยที่เหมาะสมจะมีความกว้างของรางระหว่าง 0.5-2 เมตร มีความยาวไม่น้อยกว่า 15 เมตร มความสูงระหว่าง 0.4-0.5 เมตร 5. ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศตามข้อ 1 ถึง 4 ข้อใดข้อหนึ่งที่ซึ่งน้ำในแหล่งน้ำที่จะบำบัด จะถูกส่งเข้าสู่รางพืชด้วยแรงโน้มถ่วง
๑๐. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลว
เลขที่สิทธิบัตร ๐๒๐๑๐๐๔๘๗๒
วันที่ยื่นคำขอ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๕ วันที่ประกาศ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗
บทสรุปการประดิษฐ์
อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งเข้ากับท้ายเรือที่ใช้เพื่อการ ผลักดันน้ำให้ขับเคลื่อนเรือ หรือใช้เพื่อการสูบน้ำโดยการต่อเข้ากับท่อผ้าใบหรือท่ออ่อน อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวประกอบไปด้วยตัวเรือนหลักที่มีใบพัดติดตั้งอยู่ภายใน ใบพัดที่อยู่ภายในจะดูดน้ำเข้าทางช่องน้ำเข้าและถูกผลักดันออกทางช่องน้ำออก เพื่อเพิ่มประ สิทธิภาพในการผลักดันน้ำ ยังติดตั้งเพิ่มเติมด้วยอุปกรณ์เป่าลมที่ใชเพื่อเป่าลมผ่านท่อเข้าสู่ ภายในตัวเรือนหลักให้ผลักดันน้ำออกทางช่องน้ำออก นอกจากนี้ยังมีลิ้นควบคุมการไหลของน้ำ ติดไว้ที่ช่องน้ำออกที่ใช้เพื่อปิดเปิดช่องน้ำออกให้บังคับการไหลออกของน้ำ
ข้อถือสิทธิ์
1. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวซึ่งประกอบด้วย ตัวเรือน (6) ที่เป็นตัวเรือนหลักที่มีใบพัด (7) ที่ต่อเข้ากับเพลาเครื่องยนต์ติดตั้งอยุ่ภายใน ตัวเรือน (6) ดังกล่าว ช่องน้ำเข้า (4) ที่ทำไว้เพื่อให้ใบพัด (7) ดูดน้ำจากภายนอกเข้าสู่ภายในตัวเรือน (6) ผ่าน ทางช่องน้ำเข้า (4) ในแนวเดียวกับเพลา ปะทะเข้ากับส่วนโค้งดักน้ำ (8) และถูกผลักดันออก ผ่านทางช่องน้ำออก (5) ในแนวตังฉากกับเพลา ช่องน้ำออก (5) ที่ทำเป็นช่องให้บังคับน้ำออก โดยมีการควบคุมการผลักดันน้ำออกจาก ภายในตัวเรือน (6) เพื่อเพิ่มความดันของน้ำ โดยใช้ชิ้นสวม (10) อุปกรณ์เป่าลม (9) ที่ติดตั้งเข้ากับอุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลว (1) เพื่อเป่าลมผ่าน ท่อ (10) เข้าสู่ภายในตัวเรือน (6) ให้ช่วยผลักดันน้ำออกจากภายในตัวเรือน (6) ด้วยความดันที่ เพิ่มมากข้ำและเพิ่มออกซิเจนในน้ำ 2. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวตามข้อถือสิทธิ 1 ที่ซึ่งช่องทางน้ำออก (5) ดังกล่าวจะสวม กับชิ้นสวม (10) เพื่อใช้ในการบังคับน้ำให้ใหลออกด้วยความดันที่เพิ่มขึ้น 3. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวตามข้อถือสิทธิ 1 หรือ 2 ที่ซึ่งชิ้นสวม (10) ดังกล่าวที่ สวมเข้ากับช่องน้ำออก (5) ดังกล่าวจะทำให้ปลายเปิดแคบลงในด้านที่น้ำออก 4. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวตามข้อถือสิทธิ 1, 2 หรือ 3 ข้อใดข้อหนึ่ง ที่ซึ่งปลาย เปิดที่แคบลงของชิ้นสวม (10) ดังกล่าวจะทำให้เป็นรูปทรงท่อกลมเพื่อให้สวมเข้าได้พอดีกับท่อ อื่นที่สวมเข้าเพื่อผลักดันน้ำไปได้ตามต้องการ 5. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวตามข้อถือสิทธิ 1 ถึง 4 ข้อใดข้อหนึ่ง ที่ซึ่งปลายเปิดที่ แคบลงชิ้นสวม (10) ดังกล่าวจะติดตั้งไว้ด้วยชิ้นส่วนปล่อยน้ำ (12) เพื่อควบคุมทิศทางการไหล ออกของน้ำ 6. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวตามข้อถือสิทธิ 1 ที่ซึ่งช่องทางน้ำออก (5) ดังกล่าว จะติดไว้ ด้วยลิ้นควบคุม (11) เพื่อปิดเปิดช่องทางน้ำออก (5) ให้ควบคุมการไหลของน้ำออกจากภายในตัว เรือน (6) ได้ตามต้องการปิดเปิดของลิ้น 7. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวตามข้อถือสิทธิ 1 หรือ 6 ที่ซึ่งลิ้นควบคุม (11) ดังกล่าว สามารถถูกบังคับให้ปิดเปิดด้วยมุมปิดเปิดตามต้องการในการผลักดันน้ำ 8. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวตามข้อถือสิทธิ 1 ถึง 7 ข้อใดข้อหนึ่ง ที่ซึ่งภายในตัว เรือน (6) ดังกล่าวจะทำเป็นส่วนโค้งดันน้ำ (8) อยู่ภายในตัวเรือน (6) ดังกล่าว 9. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวตามข้อถือสิทธิ 1 ถึง 8 ข้อใดข้อหนึ่ง ที่ซึ่งปลายล่างสุด ของช่องน้ำเข้า (4)จะทำมุมเป็นมุมโค้งเพื่อบังคับน้ำให้ถูกดูดเข้าสู่ภายในตัวเรือน (6) ดังกล่าว อย่างแรง 10. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวตามข้อถือสิทธิ 1 ถึง 9 ข้อใดข้อหนึ่ง ที่ซึ่งถูกติดตั้ง เข้ากับส่วนกลางท้ายเรือในแนวกระดูกงูในทิศทางตั้งตรง 11. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวตามข้อถือสิทธิ 1 ถึง 9 ข้อใดข้อหนึ่ง ที่ซึ่งจะถูกติดตั้ง เข้ากับส่วนกลางท้ายเรือในแนวกระดูกงูในทิศทางเอียงจากท้ายเรือ 12. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวตามข้อถือสิทธิ 1 ถึง 11 ข้อใดข้อหนึ่ง ที่ซึ่งจะถูกใช้ เพื่อขับเคลื่อนเรือ 13. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวตามข้อถือสิทธิ 1 ถึง 11 ข้อใดข้อหนึ่ง ที่ซึ่งจะถูกใช้ เพื่อการสูบน้ำ 14. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลวตามข้อถือสิทธิ 1 ถึง 11 ข้อใดข้อหนึ่ง ที่ซึ่งจะถูกใช้ เพื่อการบำบัดน้ำเสียโดยการพ่นน้ำเติมออกซิเจน
แหล่งอ้างอิงข้อมูล online
wikipedia
Comments